วันอาทิตย์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2555

วันขึ้นปีใหม่

วันขึ้นปีใหม่



          เผลอแป๊บเดียว …ปีใหม่ หรือ วันขึ้นปีใหม่ก็ย้อนกลับมาอีกครั้ง หลาย ๆ คนคงชอบที่จะได้หยุดหลาย ๆ วัน ว่าแต่ที่หยุดและฉลองปีใหม่กันอยู่ทุกปีเนี่ย รู้หรือเปล่าว่ามันมีที่มาอย่างไร ถ้าไม่รู้ต้องลองอ่านนี่เลย
ความหมายของวันขึ้นปีใหม่

          ตามความหมายในพจนานุกรมให้ความหมายคำว่า "ปี" หมายถึง เวลาชั่วโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ครั้งหนึ่งราว 365 วัน หรือ เวลา 12 เดือนตามสุริยคติ ดังนั้น "ปีใหม่" จึงหมายถึง การขึ้นรอบใหม่หลังจาก 12 เดือน หรือ 1 ปี

ความเป็นมาของ วันขึ้นปีใหม่

          วันขึ้นปีใหม่ มีประวัติความเป็นมาซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยตามความเหมาะสม ตั้งแต่ในสมัยเริ่มแรกเมื่อชาวบาบิโลเนีย เริ่มคิดค้นการใช้ปฏิทินโดยอาศัยระยะต่าง ๆ ของดวงจันทร์เป็นหลักในการนับ เมื่อครบ 12 เดือน ก็กำหนดว่าเป็น 1 ปี และเพื่อให้เกิดความพอดีระหว่างการนับปีตามปฏิทินกับปีตามฤดูกาล จึงได้เพิ่มเดือนเข้าไปอีก 1 เดือน เป็น 13 เดือนในทุก ๆ 4 ปี

          ต่อมาชาวอียิปต์ กรีก และชาวเซมิติค ได้นำการปฏิบัติของชาวบาบิโลเนียมาดัดแปลงแก้ไขอีกหลายคราวเพื่อให้ตรงกับ ฤดูกาลมากยิ่งขึ้น จนถึงสมัยของ กษัตริย์จูเลียต ซีซาร์ (ประมาณ 46 ปี ก่อนคริสต์ศักราช) ได้นำความคิดของนักดาราศาสตร์ชาวอียิปต์ชื่อโยซิเยนิส มาปรับปรุงให้หนึ่งปีมี 365 วัน โดยทุก ๆ 4 ปี ให้เติมเดือนที่มี 28 วัน เพิ่มขึ้นอีก 1 วัน เป็น 29 วัน คือเดือนกุมภาพันธ์ เรียกว่า อธิกสุรทิน เมื่อเพิ่มให้เดือนกุมภาพันธ์มี 29 วัน ให้ทุกๆ 4 ปี แต่วันในปฏิทินก็ยังไม่ค่อยตรงกับฤดูกาลนัก คือเวลาในปฏิทินยาวกว่าปีตามฤดูกาล เป็นเหตุให้ฤดูกาลมาถึงก่อนวันในปฏิทิน

          และในวันที่ 21 มีนาคม ตามปีปฏิทินของทุก ๆ ปี จะเป็นช่วงที่มีเวลากลางวันและกลางคืนเท่ากัน คือเป็นวันที่ดวงอาทิตย์จะขึ้นตรงทิศตะวันออก และลับลงตามทิศตะวันตก วันนี้ทั่วโลกจึงมีช่วงเวลาเท่ากับ 12 ชั่วโมงเท่ากัน เรียกว่า วันทิวาราตรีเสมอภาคมีนาคม (Equinox in March)

          แต่ในปี พ.ศ. 2125 วัน Equinox in March กลับไปเกิดขึ้นในวันที่ 11 มีนาคม แทนที่จะเป็นวันที่ 21 มีนาคม ดัง นั้นพระสันตะปาปาเกรกอรี่ที่ 13 จึงทำการปรับปรุงแก้ไขหักวันออกไป 10 วัน จากปีปฏิทิน และให้วันหลังจากวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2125 แทนที่จะเป็นวันที่ 5 ตุลาคม ก็ให้เปลี่ยนเป็นวันที่ 15 ตุลาคมแทน (ใช้เฉพาะในปี พ.ศ. 2125) ปฏิทินแบบใหม่นี้จึงเรียกว่าปฏิทินเกรกอเรี่ยน จากนั้นได้ปรับปรุงประกาศใช้ วันที่ 1 มกราคม เป็นวันเริ่มต้นของปีเป็นต้นมา

ความเป็นมาวันปีใหม่ในประเทศไทย
          สำหรับวันปีใหม่ในประเทศไทยนั้น แต่ เดิมเราถือเอาวันแรม 1 ค่ำเดือนอ้าย ซึ่งตรงกับเดือนมกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับคติแห่งพระพุทธศาสนา ที่ถือช่วงเหมันต์หรือหน้าหนาวเป็นการเริ่มต้นปี ต่อมาได้เปลี่ยนแปลงไปตามคติพราหมณ์ คือถือเอาวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 เป็นวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งตรงกับวันสงกรานต์ ดังนั้นในสมัยโบราณเราจึงถือเอาวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย

          แต่การนับวันปีใหม่หรือวันสงกรานต์ตามวันทางจันทรคติ เมื่อเทียบกับวันทางสุริยคติ ย่อมคลาดเคลื่อนกันไปในแต่ละปี ดังนั้นในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ปี พ.ศ.2432 (ร.ศ.108) ซึ่งตรงกับวันที่ 1 เมษายน พระบาทสมเด็จพระจุล จอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงให้ถือเอาวันที่ 1 เมษายนเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยนับแต่นั้นมา เพื่อวันปีใหม่จะได้ตรงกันทุกปีเมื่อนับทางสุริยคติ (แม้ว่าวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ปีต่อๆ มาจะไม่ตรงกับวันที่ 1 เมษายน แล้วก็ตาม) ดังนั้นจึงถือเอาเดือนเมษายนเป็นเดือนแรกของปีนับแต่นั้นมา  อย่างไรก็ดีประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะตามชนบทยังคงยึดถือเอาวันสงกรานต์เป็น วันขึ้นปีใหม่อยู่

          ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ทางราชการจึงเห็นว่าวันขึ้นปีใหม่วันที่ 1 เมษายน มักจะไม่มีงานรื่นเริงอะไรมากนักและเห็นสมควรที่จะฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ จึงได้ประกาศให้มีงานรื่นเริงวันขึ้นปีใหม่ในวันที่ 1 เมษายน 2477 ขึ้นในกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก จนแพร่หลายออกไปต่างจังหวัดในปีต่อ ๆ มา โดยในปี พ.ศ. 2479 ก็ได้มีการจัดงานปีใหม่ทั่วทุกจังหวัด มีชื่อทางราชการ "วันตรุษสงกรานต์"


                                 ปีใหม่ วันปีใหม่
เหตุผลเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จาก 1 เมษายน เป็น 1 มกราคม          ต่อมาก็ได้มีการพิจารณาเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาโดยมี หลวงวิจิตรวาทการ เป็นประธานคณะกรรมการ และที่ประชุมก็ ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2484 ในวันที่ 24 ธันวาคม ในสมัยคณะรัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยเหตุผลสำคัญก็คือ

           เป็นการไม่ขัดกับหลักพุทธศาสนาในด้านการนับวัน เดือน และการร่วมฉลองปีใหม่ด้วยการทำบุญ

           เป็นการเลิกวิธีนำเอาลัทธิพราหมณ์มาคร่อมศาสนาพุทธ

           ทำให้เข้าสู่ระดับสากลที่ใช้อยู่ในประเทศทั่วโลก

           เป็นการฟื้นฟูวัฒนธรรม คตินิยม และจารีตประเพณีของชาติไทย

          ตั้งแต่นั้นมา วันขึ้นปีใหม่ของไทยจึงตรงกับวันที่ 1 มกราคมของทุกปี เหมือนดังเช่นวันขึ้นปีใหม่ของประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

เพลงวันปีใหม่          แน่นอนว่า เพลงที่มักจะได้ยินบ่อย ๆ ในช่วงวันขึ้นปีใหม่ ก็คือ "เพลงพรปีใหม่" ซึ่งเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 13 ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ.2494 เมื่อครั้งเสด็จนิวัตพระนครและประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต โดยมีพระราชประสงค์ให้เพลงนี้ เป็นพรปีใหม่ที่พระราชทานแก่พสกนิกรทุกหมู่เหล่า

          ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องเป็นคำอำนวยพรปีใหม่ แล้วพระราชทานแก่วงดนตรี 2 วง คือ วงดนตรีนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำออกบรรเลง ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวงดนตรีสุนทราภรณ์ นำออกบรรเลง ณ ศาลาเฉลิมไทยเป็นครั้งแรกในวันปีใหม่ วันอังคารที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2495 โดยเพลงพรปีใหม่ มีเนื้อร้องดังนี้


          เพลงวันปีใหม่ (เพลงพรปีใหม่ เพลงพระราชนิพนธ์ในหลวง)
          
                ทำนอง: พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
                คำร้อง: พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ

                สวัสดีวันปีใหม่พา ให้บรรดาเราท่านรื่นรมย์
                ฤกษ์ยามดีเปรมปรีดิ์ชื่นชม ต่างสุขสมนิยมยินดี
                ข้าวิงวอนขอพรจากฟ้า ให้บรรดาปวงท่านสุขศรี
                โปรดประทานพรโดยปรานี ให้ชาวไทยล้วนมีโชคชัย

                ให้บรรดาปวงท่านสุขสันต์ ทุกวันทุกคืนชื่นชมให้สมฤทัย
                ให้รุ่งเรืองในวันปีใหม่ ผองชาวไทยจงสวัสดี
                ตลอดปีจงมีสุขใจ ตลอดไปนับแต่บัดนี้
                ให้สิ้นทุกข์สุขเกษมเปรมปรีดิ์ สวัสดีวันปีใหม่เทอญ

ประวัติการส่ง ส.ค.ส.ในวันปีใหม่          การส่ง ส.ค.ส หรือบัตรอวยพรนั้น ประเทศไทยรับวัฒนธรรมมาจากต่างประเทศ ซึ่งนิยมส่งบัตรอวยพรกันมาเป็นเวลากว่า 200 ปีแล้ว ตั้งแต่ราวศตวรรษที่ 18 หรือตรงกับปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา บัตรอวยพรนี้ปรากฎในรูปแบบ "บัตรเยี่ยม" (Visiting Card) เป็นบัตรกระดาษขนาดเท่าไพ่ นิยมเขียนข้อความ หรือพิมพ์รูปภาพต่าง ๆ ลงไปเพื่อเยี่ยมเยียนกันในวันขึ้นปีใหม่ ต่อมาแพร่หลายไปในเทศกาลต่าง ๆ เช่น วาเลนไทน์ คริสต์มาส มีการส่งพิมพ์และส่งบัตรอวยพรกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น

          สำหรับในประเทศไทยนั้น เชื่อกันว่าบัตรอวยพรปีใหม่ที่เก่าแก่ที่สุด คือ บัตรอวยพรที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประดิษฐ์ขึ้น เมื่อ 120 กว่าปีก่อน โดยในรัชสมัยของพระองค์ เป็นยุคที่มีการติดต่อสื่อสารกับต่างประเทศเป็นจำนวนมาก จึงมีการรับเอาขนบธรรมเนียมของตะวันตกมาด้วย

          ทั้งนี้การส่งบัตรอวยพรของพระองค์นั้น ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อใด แต่ได้ปรากฎสำเนาคำพระราชทานพรขึ้นปีใหม่ ในปี พ.ศ.2409 ของพระองค์ ในหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอร์ดเดอร์ (ภาษาอังกฤษ) ฉบับวันที่ 13 มกราคม 2409 แปลได้ใจความว่า "ทรงขอส่งบัตรตีพิมพ์คำอวยพรนี้ถึงบรรดากงสุล เจ้าหน้าที่กงสุลต่าง ๆ และชาวต่างประเทศที่ทรงคุ้นเคยโดยทั่วถึงกัน"
          ต่อมาในช่วงต้นรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 ความนิยมการส่งบัตรอวยพรแพร่หลายอย่างมาก มีหลักฐานบัตรอวยพรประเภทต่างๆ ถูกเก็บรวบรวมไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติเป็นจำนวนมาก โดยมักนิยมส่งกันในช่วงเดือนเมษายน ตามวันขึ้นปีใหม่เดิมที่ตรงกับวันที่ 1 เมษายน และบนบัตรอวยพรเหล่านั้น ยังพบคำว่า "ส.ค.ศ" หรือ "ส.ค.ส" ปรากฎอยู่ จึงเชื่อกันว่า คำว่า "ส.ค.ส" เกิดขึ้นในรัชสมัยนี้ โดยย่อมาจากคำว่า "ส่งความศุข" หรือ "ส่งความสุข"

          หลังจากนั้น ส.ค.ส ก็เป็นสิ่งที่นิยมส่งให้กันในวันขึ้นปีใหม่ จนถึงปัจจุบันนี้ และ ส.ค.ส. ก็ได้เปลี่ยนรูปแบบไปมีการนำวัสดุต่าง ๆ มาประดิษฐ์ ตกแต่ง มีรูปแบบ ลวดลายหลากหลายมากขึ้น
           ส.ค.ส พระราชทาน          ทุก ๆ ปี พสกนิกรจะเฝ้ารอการพระราชทานพรปีใหม่ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ผ่าน ส.ค.ส พระราชทานซึ่ง ส.ค.ส พระราชทานนี้ พระองค์จะทรงประดิษฐ์ขึ้นเอง เพื่อพระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทย เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ โดยปีแรก ที่พระองค์พระราชทาน ส.ค.ส คือ ปี ส.ค.ส พระราชทานสำหรับปี พ.ศ.2530 โดยทรงพิมพ์ออกจากคอมพิวเตอร์ และแฟกซ์พระราชทานให้แก่หน่วยงาน และเจ้าหน้าที่ผู้ทำงานรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท โดยทรงใช้รหัสแทนพระองค์ว่า กส. 9 เช่นเดียวกับที่ทรงใช้ติดต่อทางวิทยุสื่อสาร


ส.ค.ส พระราชทาน
ส.ค.ส.พระราชทาน ปี พ.ศ.2530

          นับแต่นั้นมา พระองค์ได้พระราชทาน ส.ค.ส ทุกปี และหนังสือพิมพ์ได้นำ ส.ค.ส พระราชทานไปตีพิมพ์ เพื่อเผยแพร่สู่สาธารณชน ส.ค.ส พระราชทานนั้นได้ยกเว้นไปในปีใหม่ พ.ศ. 2548 ที่พระองค์ไม่ได้พระราชทาน ส.ค.ส เนื่องจากในช่วงปลายปี 2547 ได้เกิดเหตุการณ์คลื่นสึนามิซัดเข้าชายฝั่งทะเลอันดามันอย่างรุนแรง พระองค์จึงทรงงานหนัก เพื่อช่วยเหลือพสกนิกรที่ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ได้มีรับสั่งพระราชทานแทน

         ใน ส่วนของข้อความที่ปรากฎบน ส.ค.ส. พระราชทานนั้น ล้วนสอดคล้องเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์บ้านเมืองในปีนั้นๆ และแม้จะเป็นเพียง ถ้อยคำสั้น ๆ แต่ก็แฝงไปด้วยข้อคิด และคติเตือนใจที่ส่งผ่านไปยังปวงชนชาวไทยทุกคน 


ส.ค.ส พระราชทาน
                                              ส.ค.ส.พระราชทาน ปี พ.ศ.2547

          สำหรับรูปแบบของ ส.ค.ส พระราชทานนั้น ในยุคแรกเป็น ส.ค.ส.ไม่มีลวดลาย สีขาวดำ มีข้อความปรากฎสั้น ๆ ต่อมาจนถึงปี พ.ศ.2532 เริ่มมีลวดลายประดับประดา ส.ค.ส.มากขึ้น จนถึงในปี พ.ศ.2549 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเป็นภาพสี               
 

ส.ค.ส พระราชทานปีล่าสุด 2554




           ส.ค.ส.พระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในปีพุทธศักราช 2554 นี้ เป็นพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์สากลสีครีมผ้าปักพระกระเป๋าเป็นผ้าลายริ้วสีเหลืองสลับเทา ฉลองพระองค์ชั้นในเป็นเชิ้ตขาว ทรงผูกเนกไทลายริ้วสีเหลืองสลับเทา ประทับบนพระเก้าอี้ ด้านข้าง พระเก้าอี้ที่ประทับทั้งสองข้างมีโต๊ะสูง โต๊ะด้านซ้ายวางแจกันแก้วก้านสูงปักดอกไม้หลากสี โต๊ะด้านขวาวางแจกันแก้วขนาดเล็กปักดอกไม้หลากสีเช่นกัน ทรงฉายกับสุนัขทรงเลี้ยง 2 สุนัข คือ คุณทองแดงที่ทรงเลี้ยงมาตั้งแต่ปี 2541 หมอบอยู่หน้าพระเก้าอี้ด้านขวาและคุณทองแท้ที่ทรงเลี้ยงมาตั้งแต่ปี 2542 หมอบอยู่หน้าพระเก้าอี้ด้านซ้าย

           ด้านหลังพระเก้าอี้ที่ประทับเป็นผ้าม่านสีเทาอ่อน มีแจกันดอกไม้ขนาดใหญ่ปักดอกกุหลาบและดอกไฮเดรนเยียหลากสีตั้งอยู่ 2 แจกัน แจกัน ด้านซ้ายมีตราพระมหาพิชัยมงกุฎประดับอยู่ ส่วนแจกันด้านขวามีผอบทองประดับอยู่ ถัดไปทางด้านหลังทั้งสองด้านมีกระถางไม้ประดับตั้งอยู่

           มุมบนด้านซ้ายมีตัวอักษรสีเหลือง ข้อความว่า ส.ค.ส.สวัสดีปีใหม่ 2554 มุมบนด้านขวามีข้อความภาษาอังกฤษ Happy New Year 2011

           ด้านล่างของ ส.ค.ส. มีข้อความเป็นตัวหนังสือพิมพ์ด้วยสีน้ำเงินว่า ขอจงมีความสุข ความเจริญ มุมล่างขวา มีข้อความ ก.ส.9 ปรุง 121923 ธ.ค.53 พิมพ์ที่โรงพิมพ์สุวรรณชาด ท.พรหมบุตร, ผู้พิมพ์โฆษณา Printed at the Suvarnnachad publishing, D Bramaputra, Publisher กรอบของ ส.ค.ส.พระราชทานฉบับนี้เป็นภาพใบหน้าคนเล็กๆเรียงกันด้านละ 3 แถว ทุกหน้ามีแต่รอยยิ้ม



กิจกรรมวันขึ้นปีใหม่

          กิจกรรมต่าง ๆ ที่ควรปฏิบัติในวันขึ้นปีใหม่ คือ
           เก็บกวาดทำความสะอาด ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือน

           ทำบุญตักบาตร กรวดนำอุทิศส่วนกุศลให้ญาติและผู้มีพระคุณที่ล่วงลับไปแล้ว

           ไปวัดเพื่อทำบุญ ถือศีล ปฏิบัติธรรม หรือฟังพระธรรมเทศนา ฯลฯ เพื่อให้จิตใจสดชื่นแจ่มใสเบิกบาน ในโอกาสวันขึ้นปีใหม่

           ไปกราบขอพรจากผู้ใหญ่ และอวยพรเพื่อนฝูง ด้วยการมอบของขวัญ ช่อดอกไม้ หรือการ์ดอวยพร

           ตรวจ สอบตัวเองเกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ ที่ได้ทำมาตลอดปี ว่ามีความเจริญก้าวหน้าสำเร็จลุล่วงไปได้แค่ไหน หากมีสิ่งใดคั่งค้างก็ต้องเร่งขวนขวายปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องของตน ถ้าอยู่ในเกณฑ์ดีก็ให้ตั้งใจทำให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป และควรให้อภัยกับผู้ที่มีเรื่องบาดหมางหรือขุ่นเคืองกัน เพื่อสานความสัมพันธ์ให้กลับมาเริ่มต้นใหม่ด้วยดี

           จัดงานรื่นเริงในหมู่เพื่อนฝูง ญาติพี่น้อง หรือสถานที่ต่าง ๆ

           จัดกิจกรรมร่วมนับถอยหลัง เพื่อก้าวสู่วันใหม่

           จัดกิจกรรมการกุศลตามสถานที่ต่าง ๆ



ปีใหม่ วันปีใหม่

วันเสาร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2555

วันคริสต์มาส

 


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

         ถึงช่วงปลายปีทีไร ชาวไทยเราก็มีเรื่องฉลองอีกแล้ว ไม่ว่าจะเป็นวันปีใหม่หรือวันคริสต์มาสที่กำลังจะเข้ามาถึง แม้ว่าวันคริสต์มาสนี่ดูเหมือนจะไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับคนไทยที่นับถือศาสนา พุทธสักเท่าไร แต่พี่ไทยซะอย่าง ฉลองได้ทุกเทศกาลอยู่แล้ว แต่ก่อนที่จะไปฉลองกัน ลองมารู้จักกับวันคริสต์มาสก่อนดีไหม


ตำนานวันคริสต์มาส

          คำว่า "คริสต์มาส" เป็นคำทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า Christmas มาจากคำภาษาอังกฤษโบราณว่า Christes Maesse ที่แปลว่า "บูชามิสซาของพระคริสตเจ้า" ซึ่งพบครั้งแรกในเอกสารโบราณที่เป็นภาษาอังกฤษในปี ค.ศ. 1038 และในปัจจุบันคำนี้ก็ได้เปลี่ยนมาเป็นคำว่า Christmas

          เทศกาล Christmas หรือ X’Mas ตรงกับวันที่ 25 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งวันที่ 25 ธันวาคมนั้นเป็นวันประสูติของพระเยซู ศาสดาแห่งศาสนาคริสต์ โดย พระองค์ประสูติที่เมืองเบ็ธเลเฮ็มและเติบโตที่เมืองนาซาเรท ซึ่งปัจจุบันคือประเทศอิสราเอล ตามหลักฐานในพระคัมภีร์ได้บันทึกไว้ว่า พระเยซูเจ้าประสูติในสมัยที่จักรพรรดิซีซาร์ ออกุสตุส แห่งจักรวรรดิโรมัน ซึ่งทรงสั่งให้จดทะเบียนสำมะโนครัวทั่วทั้งแผ่นดิน โดยฝ่ายคีรีนิอัส เจ้าเมืองซีเรียก็รับนโยบายไปปฏิบัติให้มีการจดทะเบียนสำมะโนครัวทั่วทั้ง อาณาเขต แต่ในพระคัมภีร์ ไม่ได้ระบุว่า พระเยซูประสูติวันหรือเดือนอะไร

           ด้านนักประวัติศาสตร์ก็มีความเห็นที่ต่างออกไปโดยได้วิเคราะห์ว่า เดิมทีวันที่ 25 ธันวาคม เป็นวันที่จักรพรรดิเอาเรเลียนแห่งโรมัน กำหนดให้เป็นวันฉลองวันเกิดของสุริยะเทพ ตั้งแต่ปี ค.ศ.274 ชาวโรมันซึ่งส่วนใหญ่นับถือเทพเจ้าฉลองวันนี้เสมือนว่า เป็นวันฉลองของพระจักรพรรดิไปในตัวด้วย เพราะจักรพรรดิก็เปรียบเสมือนดวงอาทิตย์ ที่ให้ความสว่างแก่ชีวิตมนุษย์ แต่ชาวคริสต์ที่อยู่ในจักรวรรดิโรมัน รวมถึงชาวโรมันที่เปลี่ยนไปนับถือคริสต์อึดอัดใจที่จะฉลองวันเกิดของสุริย เทพ จึงหันมาฉลองการบังเกิดของพระเยซูซึ่งเปรียบเสมือนความสว่างของโลก และเหมือนดวงจันทร์เป็นความสว่างในตอนกลางคืนแทน หลังจากที่ชาวคริสต์ถูกควบคุมเสรีภาพทางศาสนาตั้งแต่ปี ค.ศ. 64-313 จนถึงวันที่ 25 ธันวาคม ปี ค.ศ.330 ชาวคริสต์จึงเริ่มฉลองคริสต์มาสอย่างเป็นทางการและเปิดเผย

          เทศกาลคริสต์มาสจึงเป็นวันแห่งการเฉลิมฉลองวันประสูติของพระเยซู และเป็นการฉลองความรักที่พระเจ้ามีต่อมนุษย์โลก โดยส่งบุตรชาย คือ "พระเยซู" ลงมาเกิดเป็นมนุษย์เพื่อช่วยไถ่บาป และช่วยให้มนุษย์รอดพ้นจากการทำชั่วนั่นเอง ดังนั้นในวันนี้ถือเป็นวันที่มีความหมายสำคัญชาวคริสต์ทั่วโลก และมีการส่งบัตรอวยพร ให้ของขวัญ แก่กันและกัน รวมทั้งประดับประดาตกแต่งบ้านเรือนด้วยแสงไฟ และต้นคริสต์มาสอย่างสวยงาม





องค์ประกอบในงานคริสต์มาส

 ซานตาครอส
เป็นสิ่งแรกๆ ที่คนจะนึกถึงในฐานะสัญลักษณ์ของวันคริสต์มาส ซึ่งว่ากันว่าซานตาคลอสคนแรก คือ นักบุญ (เซนต์) นิโคลัส ผู้เป็นสังฆราชแห่งเมืองไมรา มีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 4 และเหตุที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นซานตาครอสคนแรก มาจากวันหนึ่งที่ท่านปีนขึ้นไปบนหลังคาบ้านของเด็กหญิงยากจนคนหนึ่ง แล้วทิ้งถุงเงินลงไปทางปล่องไฟ บังเอิญถุงเงินหล่นไปทางถุงเท้าที่เด็กหญิงแขวนตากไว้ข้างเตาผิงพอดี

 



          นักบุญนิโคลัส นั้นเป็นนักบุญที่ชาวฮอลแลนด์นับถือว่าเป็นนักบุญผู้อุปถัมภ์ของเด็กๆ เมื่อชาวฮอลแลนด์กลุ่มหนึ่งอพยพไปอยู่ในสหรัฐฯ ก็ยังรักษาประเพณีการฉลองนักบุญ นิโคลาส ในวันที่ 5 ธันวาคม เอาไว้ ซึ่งหมายถึงนักบุญนี้จะมาเยี่ยมเด็กๆ และเอาของขวัญมาให้เด็กอื่นๆ ที่ไม่ใช่ลูกหลานของชาวฮอลแลนด์ที่อพยพมา ประเพณีนี้จึงเริ่มเป็นที่รู้จักและแพร่หลายในอเมริกา โดยมีการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง คือ ชื่อนักบุญนิโคลัสก็เปลี่ยนเป็น ซานตาคลอส และแทนที่จะเป็นสังฆราชก็กลายเป็นชายแก่ที่อ้วนและใส่ชุดสีแดง อาศัยอยู่ที่ขั้วโลกเหนือ มีเลื่อนเป็นยานพาหนะที่มีกวางเรนเดียร์ลาก และจะมาเยี่ยมเด็กทุกคนในโลกนี้ในโอกาสคริสต์มาส โดยลงมาทางปล่องไฟของบ้านเพื่อเอาของขวัญมาให้เด็กเหล่านั้นตามความประพฤติ ของเขา

          ถึงแม้ซานตาคลอสจะเป็นเพียงตำนานที่เกิดขึ้นมาเพื่อเฉลิมฉลองวันคริสต์มาสก็ ตาม แต่ก็เป็นสัญลักษณ์ที่รวมเอาวิญญาณและความหมายของคริสต์มาสไว้อย่างมากมาย อาทิ ความปิติยินดีชื่นชม ความโอบอ้อมอารี ความรัก และความเป็นกันเอง

 ถุงเท้า           จากที่นักบุญนิโคลัสได้ปีนขึ้นไปบนปล่องไฟของบ้านเด็กหญิงยากจน เพื่อที่จะมอบเหรียญเงินให้เป็นของขวัญ แต่เหรียญนั้นกลับตกไปอยู่ในถุงเท้าที่เด็กหญิงแขวนตากไว้หน้าเตาผิง พอรุ่งเช้าเด็กหญิงตื่นมาเจอเหรียญเงินในถุงเท้าจึงดีใจมาก และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการที่ผู้คนมากมายต่างพากันแขวนถุงเท้าคริสต์มาส ไว้ เพื่อหวังจะได้รับของขวัญเช่นเดียวกันบ้าง





 ต้นคริสต์มาส

          นอกจากนี้อีกอย่างที่ขาดไม่ได้ก็คือ ต้นคริสต์มาส ซึ่งต้นคริสต์มาสก็คือต้นสนที่นำมาประดับประดาด้วยลูกแอปเปิ้ลและขนมปัง เพื่อระลึกถึงศีลมหาสนิท และก็ได้มีวิวัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยจนมาถึงการประดับด้วยดวงไฟหลาก สีสัน ขนม และของขวัญ อย่างในทุกวันนี้ การตกแต่งแบบนี้ต้องย้อนไปในศตวรรษที่ 8 เมื่อเซนต์บอนิเฟส มิชชันนารีชาวอังกฤษที่เดินทางไปประกาศเรื่องพระเจ้าในเยอรมนี ได้ช่วยเด็กที่กำลังจะถูกฆ่าเป็นเครื่องสังเวยบูชาที่ใต้ต้นโอ๊ก

          โดยเมื่อโค่นต้นโอ๊กทิ้งก็ได้พบต้นสนเล็กๆ ต้นหนึ่งขึ้นอยู่ที่โคนต้นโอ๊ก ท่านจึงขุดให้คนที่ร่วมพิธีกรรมเหล่านั้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของชีวิต และตั้งชื่อว่า ต้นกุมารพระคริสต์ ต่อมา มาร์ติน ลูเธอร์ ผู้นำคริสตจักรชาวเยอรมัน ตัดต้นสนไปตั้งในบ้านในเดือนธันวาคม ปี ค.ศ.1540 หลังจากนั้นในศตวรรษที่ 19 ต้นคริสต์มาสจึงเริ่มแพร่ไปสู่ประเทศอังกฤษและทั่วโลก และอีกเหตุผลที่ใช้ต้นสนก็เพราะว่ามันหาง่าย

          ในสมัยโบราณนั้นต้นคริสต์มาส หมายถึง ต้นไม้ในสวนสวรรค์ ซึ่งอาดัมและเอวาไปหยิบผลไม้มากิน และทำบาป ไม่เชื่อฟังพระเจ้า โดยตามพระคัมภีร์นั้นได้เปรียบพระเยซูเจ้าเสมือนเป็นต้นไม้แห่งชีวิต ซึ่งเป็นต้นไม้ที่เขียวเสมอในทุกฤดูกาล สื่อถึงนิรันดรภาพของพระเยซูเจ้า อีกทั้งความสว่างของพระองค์ยังเหมือนแสงเทียนที่ส่องสว่างในความมืด และรวมถึงความชื่นชมยินดี และความสามัคคี ที่พระเยซูประทานให้ เพราะต้นไม้นั้นเป็นจุดศูนย์รวมของครอบครัวในเทศกาลคริสต์มาส


 ต้นฮอลลี่


          ต้นฮอลลี่ เป็นต้นไม้พุ่มเตี้ย และเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของวันคริสต์มาส เชื่อกันว่า สีเขียวของต้นฮอลลี่มีความหมายถึง การมีชีวิตอยู่ชั่วนิรันดร์ และมีความสัมพันธ์กับพระเยซู โดยผลสีแดงของต้นฮอลลี่นั้นหมายถึงหยดเลือดของพระเยซูที่ไหลลงบนไม้กางเขน ซึ่งเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของความรักที่มีต่อพระเจ้า ใบไม้ที่มีหนามของต้นฮอลลี่เป็นสิ่งที่เตือนพวกเราถึงมงกุฏหนามที่พวกชาว ทหารโรมันได้นำมาวางไว้บนศีรษะของพระเยซูคริสต์


 ดอกไม้คริสต์มาส หรือ Poinsettia

          ตำนาน ของดอก Poinsettia ที่กลายมาเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของวันคริสต์มาส มาจากเรื่องราวของเด็กหญิงจนๆ คนหนึ่ง ที่ต้องการหาของขวัญไปมอบให้พระแม่มารีในวันคริสต์มาสอีฟ แต่เนื่องจากเธอไม่มีสิ่งของใดๆ ติดตัว จึงเดินทางไปตัวเปล่า และระหว่างทางเธอได้พบกับนางฟ้าที่บอกให้เธอเก็บเมล็ดพืชไว้ ต่อมาเมล็ดพืชนั้นกลับเจริญเติบโตเปลี่ยนเป็นดอกไม้สีเลือดหมูสดใส ซึ่งก็คือดอก Poinsettia ตั้งแต่นั้นดอก Poinsettia ก็ได้รับความนิยมใช้ประดับประดาบ้านในงานคริสต์มาส

 ดอกคริสต์มาส Christmas Rose          มี ต้นกำเนิดที่ประเทศอังกฤษ ลักษณะเป็นดอกสีขาว และมักออกดอกในช่วงฤดูหนาว ตำนานของดอกคริสต์มาสนี้มีอยู่ว่า ในช่วงที่พระเยซูประสูติ มีผู้รอบรู้ 3 คน กับคนเลี้ยงแกะเดินทางมาพบพระเยซู ระหว่างทางพวกเขาพบกับ มาเดลอน เด็กหญิงที่เลี้ยงแกะคนหนึ่ง เมื่อเธอทราบว่าทั้งหมดเดินทางมาเพื่อมอบของขวัญให้พระเยซู มาเดลอนก็เสียใจที่ไม่มีของขวัญใดไปมอบให้พระเยซูบ้าง ก่อนที่นางฟ้าที่เฝ้ามองเธออยู่จะเกิดความเห็นใจจึงร่ายมนตร์เสกดอกไม้สีขาว น่ารักและมีสีชมพูอยู่ตรงปลายกลีบให้เธอ และดอกไม้นั้นคือ ดอกคริสต์มาสนั่นเอง


 เพลงวันคริสต์มาส          เพลงคริสต์มาสเริ่มมีขึ้นในศตวรรษที่ 5 แต่งโดยพระสงฆ์และฆราวาส มีเนื้อร้องเป็นภาษาลาติน ลักษณะของเพลงเป็นแบบสง่า เน้นถึงความหมายของการเสด็จมาของพระเยซูเจ้า แต่ในศตวรรษที่ 12 ได้มีการแต่งในท่วงทำนองที่ร่าเริงสนุกสนานมากขึ้น เริ่มจากประเทศอิตาลี โดยนักบุญฟรังซิส อัสซีซี และนักบวชคณะฟรังซิสกัน เป็นผู้สนับสนุน ให้มีเพลงคริสต์มาสแบบใหม่

          เพลงคริสตมาสแบบใหม่นี้ เป็นที่ชื่นชอบของชาวบ้าน เพราะมีท่วงทำนองที่ร่าเริงกว่า และเน้นถึงความชื่นชมยินดีในโอกาสคริสต์มาส เพลงเหล่านี้มีทั้งที่เป็นภาษาลาติน และภาษาพื้นเมือง เพลงหนึ่งที่แต่งในสมัยนั้น (แต่งคำร้องในปี ค.ศ.1274) และยังใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน คือ เพลง Oh Come, All Ye Faithful หรือ Adeste Fideles ในภาษาลาติน เพลงคริสต์มาสที่นิยมร้องมากที่สุดในปัจจุบันได้แต่งขึ้นในศตวรรษที่ 19 จากประเทศเยอรมัน และประเทศอังกฤษเป็นส่วนใหญ่ เพลงที่มีชื่อเสียงมากได้แก่ เพลง Silent Night, Holy Night

          ความเป็นมาของเพลงนี้มาจากวันก่อนวันฉลองคริสต์มาส ของปี ค.ศ.1818 คุณพ่อโจเซฟ โมห์ (Joseph Mohr) เจ้าอาวาสวัดที่โอเบิร์นดอฟ (Oberndorf) ประเทศออสเตรีย ได้ข่าวว่าออร์แกนในวัดเสีย ทำให้วงขับร้องไม่สามารถร้องเพลงตามที่ซ้อมไว้ได้ จึงมีการแต่งเพลงคริสต์มาสใหม่ นำไปให้เพื่อนชื่อ ฟรานซ์ กรูเบอร์ (Franz Gruber) ใส่ทำนองในคืนวันที่ 24 นั่นเอง และเล่นเพลง Silent Night เป็นครั้งแรก โดยมีการเล่นกีตาร์ประกอบการขับร้อง ซึ่งกลายเป็นเพลงที่นิยมมากที่สุดทั่วโลก
 คำอวยพรวันคริสต์มาส          ในวันคริสต์มาสเรามักจะใช้คำอวยพรให้แก่กันและกันว่า Merry X'mas คำว่า Merry ในภาษาอังกฤษโบราณ แปลว่า "สันติสุขและความสงบทางใจ" คำนี้จึงเป็นคำที่ใช้อวยพรขอให้เขาได้รับสันติสุขและความสงบทางใจ และได้จัดให้มีการฉลองเพื่อระลึกถึงการบังเกิดของพระเยซู ที่เขายกย่องเหมือนกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งสากลโลก ผู้ทรงเกียรติเลอเลิศ ประเพณีนี้ได้เริ่มมาจากรุงโรมในศตวรรษที่ 4 และค่อยๆ เผยแพร่ไปทุกทวีป

 สีประจำวันคริสต์มาส
สีที่เกี่ยวข้องในวันคริสต์มาสประกอบด้วย          สีแดง : เป็นสีของผลฮอลลี่ หรือซานตาครอส เป็นสีของเดือนธันวาคม ที่แสดงถึงความตื่นเต้น และหากเป็นสัญลักษณ์ตามศาสนา สีแดงจะหมายถึง ไฟ, เลือด และความโอบอ้อมอารี

          สีเขียว : เป็นสีของต้นไม้ สัญลักษณ์ของธรรมชาตื หมายถึงความอ่อนเยาว์และความหวังที่จะมีชีวิตเป็นนิรันดร์ เปรียบได้กับว่าเทศกาลคริสต์มาสคือเทศกาลแห่งความหวัง

          สีขาว : เป็นสีของหิมะ และเป็นสัญลักษณ์ทางศาสนา คือแสงสว่าง ความบริสุทธิ์ ความสุข และความรุ่งเรือง สีขาวนี้จะปรากฎบนเสื้อคลุมนางฟ้า, เคราและชายเสื้อของซานตาครอส

          สีทอง : เป็นสีของเทียนและดวงดาว เป็นสัญลักษณ์ของแสงอาทิตย์และความสว่างไสว

 การทำมิสซาเที่ยงคืน          การถวายมิสซานี้เกิดขึ้นหลังจากพระสันตะปาปาจูลีอัสที่ 1 ได้ประกาศให้วันที่ 25 ธันวาคมเป็นวันฉลองพระคริสตสมภพ (วันคริสต์มาส) ในปีนั้นเองพระองค์และสัตบุรุษ ได้พากันเดินสวดภาวนา และขับร้องไปยังตำบลเบธเลเฮม และไปยังถ้ำที่พระเยซูเจ้าประสูติ เมื่อไปถึงตรงกับเวลาเที่ยงคืนพอดี พระสันตะปาปาทรงถวายบูชามิซซา ณ ที่นั้น เมื่อเดินทางกลับมาที่พักได้เวลาตี 3 พระองค์ก็ถวายมิสซาอีกครั้ง และ สัตบุรุษเหล่านั้นก็พากันกลับ แต่ยังมีสัตบุรุษหลายคนไม่ได้ร่วมขบวนไปด้วยในตอนแรก พระสันตะปาปาก็ทรงถวายบูชามิสซาอีกครั้งหนึ่งเป็นครั้งที่ 3 เพื่อสัตบุรุษเหล่านั้น ด้วยเหตุนี้เองพระสันตะปาปาจึงทรงอนุญาตในพระสงฆ์ถวายบูชามิสซาได้ 3 ครั้ง ในวันคริสต์มาส เหมือนกับการปฏิบัติของพระองค์ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจึงมีธรรมเนียมถวายมิสซาเที่ยงคืน ในวันคริสต์มาส และพระสงฆ์ก็สามารถถวายมิสซาได้ 3 มิสซา ในโอกาสวันคริสต์มาส

 เทียนและพวงมาลัย


         พวง มาลัยนั้นเป็นสัญลักษณ์ที่คนสมัยก่อนใช้หมายถึงชัยชนะ แต่สำหรับการแขวนพวงมาลัยในวันคริสต์มาสนั้น หมายถึงการที่พระองค์มาบังเกิดในโลก และทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างครบบริบูรณ์ตามแผนการณ์ของพระเป็นเจ้า ซึ่งธรรมเนียมนี้ เกิดจากกลุ่มคริสตชนกลุ่มหนึ่งในประเทศเยอรมันได้เอากิ่งไม้มาประกอบเป็นวง กลมคล้ายพวงมาลัย แล้วเอาเทียน 4 เล่ม วางไว้บนพวงมาลัยนั้น ในตอนกลางคืนของวันอาทิตย์แรกของเทศกาลเพื่อเตรียมรับเสด็จ ทุกคนในครอบครัวจะจุดเทียนหนึ่งเล่ม สวดภาวนา และร้องเพลงคริสต์มาสร่วมกันเป็นเวลา 4 อาทิตย์ก่อนถึงวันคริสต์มาส ประเพณีเป็นที่นิยมอยางมากในประเทศอเมริกา ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงโดยนำเทียน 1 เล่มนั้นมาจุดไว้ตรงกลางพวงมาลัยสีเขียว และนำไปแขวนไว้ที่หน้าต่าง เพื่อเป็นการเตือนให้คนที่เดินผ่านไปมาได้รู้ว่าใกล้ถึงวันคริสต์มาสแล้ว ส่วนเหตุผลที่พวงมาลัยมีสีเขียวนั้น เป็นเพราะมีการเชื่อกันว่าสีเขียวจะช่วยป้องกันบ้านเรือนจากพวกพลังอันชั่ว ร้ายได้

 ระฆังวันคริสต์มาส

          เสียงระฆังในวันคริสต์มาสคือการเฉลิมฉลองให้กับการประสูติของพระพุทธเจ้า โดยมีตำนานเล่าว่า มีการตีระฆังช่วงก่อนเวลาเที่ยงคืนของวันคริสต์มาสเพื่อลดพลังความมืด และบ่งบอกถึงความตายของปีศาจ ก่อนที่พระเยซูผู้ที่จะมาช่วยไถ่บาปให้กับมวลมนุษย์จะถือกำเนิดขึ้น และระฆังนี้มีเสียงดังกังวาลนานนับชั่วโมง ก่อนที่ในเวลาเที่ยงคืนเสียงระฆังนี้จะกลับกลายมาเป็นเสียงแห่งความสุข

 ดาว
          ดาว ในความหมายของชาวคริสต์เตียน หมายถึงการแสดงออกที่ดีของพระเยซูคริสต์ ที่บัญญัติไว้ในพระคัมภีร์ไบเบิ้ลว่า "The bright and morning star" มีความหมายพิเศษเหมือนกับว่า ดวงดาวเหล่านั้นได้แบ่งที่อยู่กับสรวงสวรรค์ ไม่ว่าจะมีกำแพงอะไรขวางกั้นระหว่างพื้นผิวโลกด้วยก็ตาม

 เครื่องประดับและแอปเปิ้ล                          

          ในบางแห่งเชื่อว่า ลำต้นของแอปเปิ้ล มองดูคล้ายกับต้นไม้ในสรวงสวรรค์ จึงมีการนำเอาแอปเปิ้ลมาประดับตามต้นไม้ในวันคริสต์มาส ส่วนเครื่องประดับชิ้นเล็กๆ ที่ตกแต่งต้นคริสต์มาสนั้นเป็นงานศิลปะที่จำลองจากผลไม้ และที่มีสีสันสดใสนั้นเพื่อให้เกิดความรื่นเริงในบ้าน อีกทั้งแสงระยิบระยับที่สะท้อนไปมา ยังดูสวยงามคล้ายแสงเทียนและแสงไฟ


 ของขวัญวันคริสต์มาส

                    
          การแลกเปลี่ยนของขวัญในวันคริสต์มาสนั้น เริ่มต้นจากเมือง Saturnalia ในช่วงยุคโรมัน ต่อมาชาวคริสต์รับประเพณีนี้เข้ามา ด้วยความเชื่อว่า การให้ของขวัญนี้มีความเกี่ยวเนื่องกับของขวัญประเภททอง, ยางสนที่มีกลิ่นหอม และ ยางไม้หอม ซึ่งพวกนักเวทย์จากตะวันออกที่เดินทางมาคารวะพระเยซูคริสต์ นำมาให้ตอนที่ท่านประสูติ

          ทั้งหมดนั้นก็คือการเฉลิมฉลองให้กับพระเยซู ที่เกิดมาเพื่อชำระบาปให้แก่ชาวคริสต์ทั้งหลาย และเป็นเทศกาลที่นำความสุข สนุกสนาน มาสู่หมู่มวลมนุษย์